ใบหน้ามีกระเกิดจากอะไร มีวิธีดูแลรักษาอย่างไร

ใบหน้าที่ดูสะอาดเกลี้ยงเกลา เป็นสุดยอดปรารถนาของสาวๆทุกคน ไม่จำเป็นว่าต้องมีสีผิวอะไรแต่ขอให้ปราศจากจุดด่างดำต่างๆก็พอ “กระ” จุดสีน้ำตาลขนาดเล็กที่พบบนผิวหนัง ทั้งใบหน้าและตามส่วนต่างๆของร่างกาย อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับใครบางคน แต่การที่จู่ๆก็มีกระขึ้นมานั้น อาจสร้างความกังวลสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วอย่างนี้พอจะมีทางใดบ้างในการกำจัดกระ เพื่อให้หน้ากลับมาดูเรียบเนียนได้เหมือนเดิม

กระ เกิดจากอะไร

พบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวขาวและผมสีอ่อน เช่น สีแดง หรือ สีทอง เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanin) ที่ชื่อว่าเมลาโนไซต์ (Melano cyte ) ทำงานผิดปกติ จนทำให้ผิวบริเวณนั้นมีสีเข้มขึ้น เป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำ มีทั้งลักษณะแบนราบหรือตุ่มนูน กระจายอยู่บริเวณผิวหน้า ลำคอ ไหล่ หรือหน้าอก สาเหตุมาจาก

  • พันธุกรรม

ลักษณะที่ถ่ายทอดต่อๆกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษสู่รุ่นต่อไป สังเกตว่าถ้าพ่อหรือแม่มีกระ ลูกก็จะมีโอกาสสูงที่จะมีกระขึ้นได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดเช่นนี้ เพราะมีการผลิตเม็ดสีผิวมากกว่าคนทั่วไปซึ่งส่งผลให้เกิดกระมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

  • แสงแดด

เมื่อผิวสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดจุดสีเข้มบนผิวหนัง เกิดจากการที่เมลาโนไซต์ถูกกระตุ้นให้มีการผลิตเม็ดสีมากขึ้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อดูดซับรังสียูวีจากแสงแดดเพื่อเป็นเกราะป้องกันผิวจากแสงแดดด้วยการสะท้อนและดูดซึมรังสียูวี ส่งผลให้ผิวคล้ำลงหลังถูกแสงแดด ส่วนเมลานินที่ผลิตออกมามากเกินจึงทำให้เกิดกระอย่างที่เห็น

 

กระมีกี่ประเภท

  1. กระตื้น

จุดสีน้ำตาลขนาดเล็ก ซึ่งกระจายอยู่ทั่วใบหน้าและร่างกายในส่วนที่โดนแสงบ่อย แต่ก็สามารถจางลงเองได้หากหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  • Freckle มักพบในเด็กและวัยรุ่น กระนี้จะมีสีเข้มขึ้นและเห็นชัดเจนเมื่อโดนแดด
  • Solar Lentigo หรือกระแดด ลักษณะเป็นวงกลมสีน้ำตาล และเรียบแนบกับผิวซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุ
  1. กระลึก

จุดสีน้ำตาลเทา เกิดขึ้นในชั้นหนังแท้ซึ่งลึกกว่ากระตื้น พบบ่อยบริเวณโหนกแก้มสองข้าง ด้วยความที่อยู่ลึกจึงไม่ตอบสนองต่อการทายากำจัดฝ้า

  1. กระเนื้อ

มีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อเล็กๆสีน้ำตาลหรือดำ ผิวอาจจะเรียบหรือขรุขระก็ได้ พบในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ไปจนถึงลำตัว วิธีรักษานั้นต้องทำโดยเลเซอร์เท่านั้น

 

วิธีการรักษา

  • ใช้ยาทา

ที่มีส่วนผสมของสารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) และกรดโคจิก (Kojic Acid) ในการทำให้กระดูจางลง เหมาะสำหรับรักษากระตื้น

  • การผลัดเซลล์ผิวหนัง (Chemical Peels)

เป็นการลอกหน้าด้วย Glycolic acid และ Salicylic acid ซึ่งเป็นกรดผลไม้ ทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ นอกจากนี้ยังมีสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสี เช่น Arbutin, และ L-Ascorbic Acid หรือวิตามินซี  ทำให้หน้าดูกระจ่างใสขึ้น

  • การทำ IPL

ใช้เครื่องมือปล่อยพลังงานแสงที่ปรับความยาวคลื่นที่เหมาะสมไปยังผิวที่ต้องการรักษา เม็ดสีผิวจะดูดซับพลังงานเข้าไปแล้วถูกทำลาย โดยไม่กระทบต่อผิวบริเวณข้างเคียง

  • การทำเลเซอร์

สามารถรักษากระได้ทุกประเภท โดยแพทย์ผิวหนังจะเป็นผู้เลือกชนิดของเลเซอร์ให้เหมาะสมกับชนิดของกระที่เป็นเช่น Q-Switched Laser, CO2 Laser  ต้องทำเลเซอร์จำนวนหลายครั้งขึ้นกับชนิดของกระที่เป็น และต้องทิ้งช่วงในการรักษา ถ้าเป็นกระลึกที่รักษาค่อนข้างยาก ต้องทำการยิงเลเซอร์หลายครั้งเนื่องจากเม็ดสีอยู่ลึก ข้อดีคือเมื่อรักษาแล้วมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ในกรณีของกระเนื้อแค่ยิงเลเซอร์ครั้งเดียวก็เห็นผลแล้ว

แม้จะไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดกระ เพราะส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม แต่สามารถหลีกเลี่ยงแสงแดดซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กระเด่นชัดขึ้นได้ กระที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว แต่หากสังเกตเห็นความผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณหัวไหล่ หน้าอก ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดในการหาวิธีรับมือเพื่อไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้

Leave a Reply