มีสารเคมีอะไรในครีมกันแดด ?

ใครๆต่างก็รู้ถึงอันตรายจากรังสีในแสงแดด การทาครีมกันแดดเป็นประจำ นอกจากเป็นวิธีในการปกป้องผิวในระยะยาวแล้วยังเป็นการช่วยบำรุงผิวทางอ้อมอีกด้วย เนื่องจากมีการพัฒนาประสิทธิภาพให้ครอบคลุมการดูแลผิวมากขึ้น รวมถึงเนื้อครีมกันแดด และสีที่มีให้เลือกตามความชอบ ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดขั้นตอนในการแต่งหน้า สำหรับมือใหม่ อาจเกิดความสับสนกับคำต่างๆที่อยู่บนฉลาก เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเกินไป มาทำความเข้าใจกันเลย

ครีมกันแดด (Sunscreen) มีกี่ประเภท

ครีมกันแดด คือ ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนผสมของสารกันแดด ใช้ทาผิวเพื่อปกป้องอันตรายจากแสงแดดที่ส่งผลเสียต่อผิวหนัง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ครีมกันแดดชนิดเคมี (Chemical sunscreen) เป็นครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำหน้าที่ในการปกป้องแสงแดด ด้วยการดูดซับรังสี UVA และ UVB เข้าไปในผิวหนังแล้วเปลี่ยนเป็นความร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้แสงผ่านลงไปในชั้นผิวหนังได้ ข้อดีคือ ครีมกันแดดชนิดนี้มักซึมสู่ผิวได้ง่าย ข้อเสียคืออาจเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ง่าย และไม่มีความเสถียร ความคงทนในการป้องกันแสงแดดอยู่ที่ 2-3 ชั่วโมง
  • ครีมกันแดดชนิดกายภาพ (Physical sunscreen) มีส่วนผสมที่สามารถสะท้อนรังUVA และ UVB ที่ตกกระทบให้ออกไปจากผิวหนังได้ ข้อดีคือมีความระคายเคืองน้อยกว่าชนิดเคมี ข้อเสียคือ ครีมกันแดดประเภทนี้ไม่สามารถให้ค่า SPF ที่สูงได้ เนื้อครีมไม่ค่อยซึมเข้าสู่ผิว ทาแล้วไม่เรียบเนียนกลืนไปกับผิว และล้างออกได้ค่อนข้างยาก

ค่า PA คืออะไร

PA หรือ Protection Grade of  UVA เป็นค่าที่แสดงถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากรังสี UVA ที่ทำร้ายผิวได้ลึกถึงชั้นไขมัน สาเหตุของจุดด่างดำ รอยเหี่ยวย่น ส่วนเครื่องเครื่องหมาย + ที่ตามหลังนั้นคือ ค่าความสามารถในการปกป้องผิว โดยค่า PA จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ ดังนี้

  • PA+ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 1-4 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้น้อย
  • PA++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 4-8 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้ปานกลาง (เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานในร่ม)
  • PA+++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 8-16 เท่า หรือป้องกันได้สูง (เหมาะสำหรับผู้ที่เผชิญแสงแดดเป็นครั้งคราว)
  • PA++++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 16 เท่าขึ้นไป หรือป้องกันได้สูงที่สุด (เหมาะสำหรับผู้ที่เผชิญแสงแดดตลอดเวลา)

 

ค่า SPF คืออะไร

SPF หรือ Sun Protection Factor เป็นค่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB สาเหตุของผิวไหม้แดด ดำคล้ำ เสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง ตัวเลขที่ระบุตามหลัง เช่น SPF30 หมายถึงใช้ระยะเวลานานกว่า 30 เท่าของเวลาที่ทำให้ผิวแดงเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่เรายังไม่ได้ทาครีมกันแดด เช่น ถ้าไม่ทาครีมกันแดดแล้วผิวจะเริ่มแดงภายใน 10 นาที หมายความว่า ครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 สามารถป้องกันผิวไม่ให้แดงภายในเวลา 300 นาที แต่ในความเป็นจริงประสิทธิภาพในหารปกป้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ปริมาณครีมกันแดดที่ทา ระยะเวลาในการสัมผัสแสงแดด ความร้อนของแสงแดดในแต่ละช่วง ยิ่งค่า SPF สูงแสดงว่าครีมกันแดดมีประสิทธิภาพในการปกป้องได้มากขึ้น

IR Block หรือ Infrared Block

อีกหนึ่งรังสีที่มีความอันตรายไม่แพ้กันคือ รังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อน ที่ทำร้ายผิวได้ลึกถึงระดับเซลล์ กระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้คอลลาเจนในชั้นผิวลดลง เป็นสาเหตุของความหย่อนคล้อย ริ้วรอยลึก ผิวหนังสูญเสียความยืดหยุ่น นอกจากในแสงแดดแล้ว รังสีชนิดนี้ยังอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไดร์เป่าผม

Water resistant กับ Waterproof

หากต้องการครีมกันแดดที่สามารถกันน้ำ แต่ไม่ได้สัมผัสน้ำมากมาย ให้มองหาคำว่า Water resistant ที่ช่วยปกป้องผิวแม้โดนน้ำแต่ยังสามารถออกฤทธิ์ได้สูงสุด 40 นาที สำหรับกิจกรรมทางน้ำที่ต้องการการปกป้องเหนือกว่า ให้เลือกที่เขียนว่า Waterproof สามารถกันน้ำโดยที่ไม่หลุดออกไปได้นานถึง 80 นาที

อย่าลืมว่าไม่มีครีมกันแดดยี่ห้อใดที่สามารถปกป้องผิวจากรังสีและความร้อนจากแสงแดดได้ 100% จึงจำเป็นต้องทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง เพราะสภาพผิวแต่ละคนมีระยะเวลาในการป้องกันแสงแดดต่างกัน รวมทั้งปริมาณเหงื่อ ปริมาณน้ำมันที่ผิวผลิตออกมา เป็นตัวชะล้างให้ครีมกันแดดหลุดออกได้ แม้แต่ในที่ร่มก็ต้องทาครีมกันแดดอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงแสงแดด หาอุปกรณ์ช่วยอย่างเช่น ใส่หมวก สวมแว่นตา เพื่อป้องกันผิวจากการถูกทำร้ายให้ได้มากที่สุด

 

Leave a Reply