ข้อแตกต่างระหว่าง AHA กับ BHA

เมื่อกระบวนการผลัดเซลล์ผิว (Exfoliation)  ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลให้ผิวหน้าเกิดความหมองคล้ำ จึงได้มีการคิดค้นวิธีที่เรียกว่า Chemical peeling ซึ่งอาศัยสารเคมีเป็นตัวเร่ง โดยทำลายสารที่เชื่อมเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดออกได้อย่างง่าย สารที่ใช้จะเป็นกรดอ่อนๆทั้งที่มาจากธรรมชาติและที่สังเคราะห์ขึ้น และยังผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น โฟมล้างหน้า ครีมรักษาสิว ครีมลดเลือนริ้วรอย ที่นิยมใช้และพบเห็นบ่อยคือ AHA และ BHA ทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้างในการใช้

AHA คืออะไร

AHA หรือที่หลายคนเรียกกันว่า กรดผลไม้ ย่อมาจากคำว่า Alpha hydroxy acid หมายถึงสารประกอบที่มีฤทธิ์เป็นกรด ส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ เช่น

  • Citric Acid สกัดจากผลไม้ตระกูลส้ม เช่น มะนาว ส้ม
  • Malic acid – จากแอปเปิ้ล
  • Mandelic Acid สกัดจากอัลมอนด์
  • Glycolic Acid สกัดจากอ้อย เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีขนาดโมเลกุลเล็ก
  • Lactic Acid สกัดจากนมเปรี้ยว เหมาะกับผิวแพ้ง่าย
  • Tartaric Acid สกัดจากมะขามและไวน์

AHA นิยมใช้ในวงการแพทย์ผิวหนัง การทำทรีทเม้นท์ในคลินิกเสริมความงาม มีบทบาทในการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพ จะช่วยทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์ชั้นบนสุดลดน้อยลง ทำให้เซลล์ผิวหลุดลอกได้ง่ายขึ้น เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้ผิวหน้าดูเรียบเนียน และกระจ่างใสกว่าเดิม ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมา พร้อมทั้งเสริมการสร้างคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ คืนความชุ่มชื่นให้สู่ผิว และยังโดดเด่นในเรื่องการรักษาฝ้า จุดด่างดำ รอยสิว ริ้วรอยบางๆ มักจะเห็นผลชัดเจนในระยะเวลา 1 – 2 เดือนแต่ในกรณีริ้วรอยลึกคงไม่ช่วยให้ดีขึ้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ AHA

AHA ทุกตัวสามารถทำให้ผิวระคายเคืองไปจนถึงผิวลอกได้ ควรเริ่มต้นใช้ด้วยความเข้มข้นที่น้อยก่อน แล้วจึงค่อยไต่ระดับความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ การผลัดเซลล์ผิวด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดทุกครั้ง เนื่องจากผิวมีความไวต่อแสงแดดมาก

BHA คืออะไร

BHA ย่อมาจากคำว่า Beta hydroxy acid เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา สามารถละลายได้ในน้ำมัน มีคุณสมบัติทนความร้อน ไม่เสื่อมสภาพได้ง่ายเหมือน AHA สารในกลุ่ม BHA ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ กรดซาลิกไซลิก (salicylic acid) ที่สกัดมาจากเปลือกของต้นWillow โดยที่ BHA จะทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นเคราตินหลุดลอกได้เร็ว ไม่นิยมนำมาใช้ในการทำทรีทเม้นท์หน้าใส  แต่โดดเด่นในการรักษาสิว เกี่ยวกับโรคทางผิวหนังนิยมนำมาใช้ในการลอกหูด หรือทาผิวเท้าที่หนาและแตก BHA มีหน้าที่ในการขจัดเซลล์ผิวเก่า ปลอบประโลมผิวจากการอักเสบ บวมแดง สามารถซึมลึกเข้าสู่รูขุมขนได้ดี ละลายไขมันใต้ผิว จึงไม่ทำให้ผิวอุดตัน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวมัน รูขุมขนกว้าง

ผลข้างเคียงจากการใช้ BHA

การใช้ในปริมาณความเข้มข้นสูงก็มีผลเสียต่อผิวหนังได้เช่นกัน อาจเกิดการระคายเคือง ผิวลอก ทำให้ภูมิต้านทานของเซลล์ผิวหนังต่ำ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ในเครื่องสำอางกำหนดให้ใช้ได้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 3% แต่ที่นิยมคือที่ 0.5 – 1%

สรุปความต่างระหว่าง AHA กับ BHA

ทั้ง AHA และ BHA ทำหน้าที่ในการผลัดเซลล์ผิว แต่ AHA จะเน้นในเรื่องความหมองคล้ำของผิว ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ ปรับสีผิวให้สว่างขึ้น การใช้ AHA ในบางคนอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ และรู้สึกระคายเคืองได้มากกว่า ในขณะที่ BHA เน้นในเรื่องการรักษาสิวหัวดำ สิวอุดตัน ปรับสภาพผิวหน้าให้ดีขึ้น ด้วยการช่วยลดความมันส่วนเกิน เมื่อใช้ไปสักระยะสังเกตได้ถึงรอยแดงจากสิวลดลง รวมถึงรอยแผลเป็นจากสิว ผิวมีแนวโน้มเรียบเนียนมากขึ้น

 

AHA และ BHA ต่างมีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจใช้ ลองทดสอบดูก่อนว่าผิวรับได้ดีแค่ไหน หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เนื่องจากผลการรักษาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวระคายเคืองง่าย อาจเสี่ยงต่ออาการแพ้ได้ ที่สำคัญคืออย่าลืมทามอยเจอร์ไรเซอร์และครีมกันแดดเป็นประจำ เพื่อปกป้องเซลล์ผิวใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นใบหน้าอาจหมองคล้ำลงกว่าเดิมได้โดยไม่รู้ตัว

 

Leave a Reply